400 ปีแห่งความหลากหลาย ดันเมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก

หมวดหมู่: UPDATE
วันที่: 2025-02-12 13:59:53
งานสถาปนิก’64 “มองเก่า ให้ใหม่ : REFOCUS HERITAGE”
https://www.asaexpo.org/post/songkhla-heritage-city
เบื้องหลังเสน่ห์ย่านเมืองเก่าสงขลาบริเวณถนนนครนอก ถนนนครใน และถนนนางงาม ที่สะดุดตาด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่สไตล์ลูกผสมชิโน-ยูโรเปี้ยน คือความร่วมมือร่วมใจของลูกหลานในชุมชน หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่กำลังจับมือกันผลักดันให้เมืองเก่าแห่งนี้ก้าวสู่ความเป็นเมืองมรดกโลก แต่หมุดหมายนี้จะต้องใช้อะไรเป็นต้นทุนบ้าง ภาคีคนรักเมืองสงขลาฯ เคยบอกกับเราว่า “มรดกของเมืองเก่าสงขลานั้น หากจะใช้คำภาษาอังกฤษก็คือ Living Heritage หรือความเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิตนั่นเอง”
นั่นเป็นความจริงที่ยากจะปฏิเสธ เพราะหากถามใครที่ไปเยี่ยมเยือนสงขลาในช่วงสิบปีให้หลังนี้ ไม่ว่าจะเดินไปตามตรอกซอยไหนคุณก็มักจะพบอาคารเก่าแก่งดงามที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้ในรูปแบบต่างๆ บ้างถูกปรับปรุงเป็นร้านกาแฟ บ้างเป็นร้านอาหาร หรือเป็นร้านขายของสไตล์ใหม่ๆ โดยคนรุ่นสองรุ่นสาม โดยทุกหลังยังคงแฝงกลิ่นอายความดั้งเดิมที่ผสานศิลปะแบบไทย จีน และมลายู ไว้อย่างกลมกลืน "คุณจะเห็นผู้คนที่ขายข้าวปลาอาหารสูตรโบราณ เช่นขนมสัมปันนี ขนมทองเอก ขนมการอจี๋ ขนมลูกโดน ซาลาเปาลูกใหญ่แบบจีน สลับไปกับภูมิทัศน์ใหม่ๆ ของร้านค้าแบบฝรั่ง คาเฟ่ หรืออาร์ตสเปซ ที่ผูกมิตรอยู่ด้วยกันได้แบบไม่เคอะเขิน” คนสงขลารุ่นใหม่ๆ บอกไว้แบบนั้น
อย่างไรก็ดี เมื่อเสน่ห์ของวันวานได้ก้าวเดินมาสู่วันนี้แล้วอย่างสวยงาม คำถามคือในอนาคตจากนี้เมืองเก่าสงขลาควรจะฉายภาพอย่างไรเพื่อก้าวสู่ฐานะมรดกโลก? ดร.จเร สุวรรณชาต รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย หนึ่งในภาคีคนรักเมืองสงขลาฯ มีมุมมองต่อประเด็นนี้ว่า “เมืองเก่าสงขลามีความโชคดี เพราะมีคู่เปรียบเทียบอย่างปีนังและมะละกาที่เป็นเมืองมรดกโลกอยู่ก่อนแล้ว ตัวเทียบเช่นนี้ทำให้อัตลักษณ์ของสงขลายิ่งเด่นชัดขึ้นในเรื่องความหลากหลาย โดยเฉพาะเรื่องของเชื้อชาติที่เรามีทั้งคนไทย คนพุทธ คนจีน คนมุสลิม อยู่ร่วมกันมายาวนาน มันสะท้อนให้เห็นผ่านทั้งวัฒนธรรมการกิน การออกแบบบ้านเรือนสถาปัตยกรรม ฯลฯ ซึ่งต่างจากเมืองอื่นที่ชนชาติต่างๆ เขายังมีเขตแดนระหว่างกันบ้าง เช่นมีย่านคนจีนเรียกว่าไชน่าทาวน์ หรือย่านคนแขกเรียกว่าลิตเติลอินเดีย ...แต่ที่สงขลาไม่ใช่ คุณเดินเล่นบนถนนเส้นเดียวก็จะสัมผัสได้ถึงมรดกของทุกชนชาติ มันแสดงถึงประวัติศาสตร์ที่ว่าเราอยู่อย่างนี้มาแต่ไหนแต่ไร นี่คือเสน่ห์ของเราที่ไม่มีที่ใดเหมือน” ดร.จเร อธิบายถึงมรดกเมืองเก่าที่เขาภูมิใจ
ดร. จเร สุวรรณชาต
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย.
https://www.asaexpo.org/post/songkhla-heritage-city
https://www.slideshare.net/FURD_RSU/heritage-trust
http://www.bigconnectivity.org/beta/sites/default/files/2017-03/Songkhla%20heritage%20trust%20pdf.pdf