15 พฤษภาคม 2563
สจล.เร่งศึกษาและออกแบบ ผังแม่บทพื้นที่เมืองสวรรคโลกเพื่อการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเมืองมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย –ศรีสัชนาลัย –กำแพงเพชร” ก่อนส่งไม้ต่อให้คนรุ่นใหม่ร่วมกันพัฒนาพื้นที่เชื่อมโยงถึงกัน จากพื้นที่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย กับพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมือง
รศ.สุรศักดิ์ กังขาว หัวหน้าผู้วิจัยโครงการศึกษาและออกแบบผังแม่บทพื้นที่เมืองสวรรคโลกเพื่อการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเมืองมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย – ศรีสัชนาลัย – กำแพงเพชร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) เปิดเผยกับ UCD News ว่า ไฮไลต์หลักของผังแม่บทวางไว้ที่เมืองสวรรคโลก เพราะเป็นพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและศรีสัชนาลัย ที่สามารถขยายพื้นที่รองรับและอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสศึกษาและเข้าใจในพื้นที่เมืองมรดกโลกมากขึ้น สร้างทางเลือกให้นักท่องเที่ยวได้มีประสบการณ์และทางเลือกที่หลากหลายซึ่งได้ศึกษาและวิจัยเรื่องพฤติกรรมนักท่องเที่ยวในพื้นที่มรดกโลกไว้แล้ว จึงใช้โอกาสนี้ต่อยอด ขยายผล รวบรวมเนื้อหาและประวัติศาสตร์ในเมืองสวรรคโลกให้เกิดการเชื่อมโยงมากยิ่งขึ้น
“สวรรคโลกมีต้นทุนทางประวัติศาสตร์ที่ดีและมีวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรมเป็นของตนเองที่ยังคงอยู่ จึงต้องการศึกษาและ รวบรวมข้อมูลทั้งหมดร้อยเรียงเป็นหนังสือที่สามารถเก็บไว้เป็นหลักฐานก่อนที่จะสูญหายไปโดยจะบูรณาการขึ้นเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถยกระดับสู่ความเป็นสากลพร้อมเชื่อมโยงเรื่องราวพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ตำแหน่งเมืองสวรรคโลกยังเป็นที่ตั้งของสนามบินและสถานีรถไฟที่รองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยว ถือเป็นโอกาสที่ดี สำหรับนักท่องเที่ยวได้เพิ่มประสบการณ์ และมีทางเลือกที่หลากหลาย ทำให้นักท่องเที่ยวไม่กระจุกตัว อยู่แต่บริเวณพื้นที่อุทยานประวัตศาสตร์ เท่านั้น ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ต่อชุมชนในเมืองสวรรคโลกมากยิ่งขึ้น”
ปัจจุบันมนต์เสน่ห์ในพื้นที่ยังสามารถเห็นได้ จากรูปแบบสถาปัตยกรรมไม้ในชุมชนยุครุ่งเรือง ซึ่งแบ่งเป็น 3 ยุคสมัย ตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์สุโขทัย อยุธยา และ รัตนโกสินทร์ โดยมีร่องรอยเชื่อมโยงในการเปลี่ยนแปลงแต่ละยุคสมัย จนถึงยุครุ่งเรืองของเมืองสวรรคโลกในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกัน เห็นได้จาก สถานีตำรวจ ที่ว่าการอำเภอ สถานีรถไฟ โรงสีข้าว โรงแรมไม้ 3 ชั้น บ้านขุนปราณี ตลอดจนร้านค้า ในสมัยนั้นยังคงรูปลักษณ์สถาปัตยกรรมไม้เอาไว้อย่างยาวนาน ถือเป็นกลุ่มเรือนไม้ที่ครบถ้วนทั้งหน่วยงานราชการ บ้านคหบดี ระบบขนส่ง โรงแรม และ ชุมชน
“มีแนวคิดว่าจะจัดพิมพ์เป็นหนังสือภาษาอังกฤษให้ชาวต่างชาติได้มีโอกาสศึกษาพื้นที่สวรรคโลก และภาคภาษาไทยควบคู่ไปด้วย โดยจะส่งมอบให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปใช้ประโยชน์ รวมทั้งสภาสถาปนิกนำมาใช้เป็นข้อมูลศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมเรือนไม้ ในสวรรคโลกโดยใช้ชื่อหนังสือว่า “สถาปัตยกรรมไม้หมายเมืองสวรรคโลก” ซึ่งจัดเป็นการต่อยอดผลงานวิจัยในครั้งนี้อีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ยังมีแผนงานการร่วมมือกับ Ball State University, USA. ในการศึกษารายละเอียดต่อยอดในพื้นที่เมืองมรดกโลก”
รศ.สุรศักดิ์กล่าวต่อว่า ประการสำคัญการท่องเที่ยวของเมืองสุโขทัยยังคงอ้างอิงกับเทศกาลสำคัญต่างๆ อาทิ เผาเทียนเล่นไฟในช่วงเทศกาลลอยกระทง งานพ่อขุนรามคำแหง ส่งผลให้การท่องเที่ยวกระจุกตัว และมีกิจกรรมเป็นช่วงๆ ขาดความต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและกระจายรายได้สู่ชุมชนในท้องถิ่น โดยเสนอทางเลือกอีกแนวทางหนึ่งคือการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวไปเชื่อมโยงกับสื่อโซเซียลมีเดียให้มากขึ้นโดยชุมชนสามารถประยุกต์ใช้ด้วยตนเอง เพื่อสื่อสารและอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว ได้มากยิ่งขึ้น
“จึงเป็นเหตุผลให้เกิดเจตนารมณ์ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษา รักษ์หวงแหนในมรดกศิลปะ และ วัฒนธรรมที่มีอยู่เพื่อสานต่อการพัฒนาจากผังแม่บทในงานวิจัยนี้ได้อย่างยั่งยืน”